วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนวทางการรับนักเรียน ปี 2554

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา "การรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔" ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑-๒ ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน คณะกรรมการสถานศึกษาและเครือข่ายผู้ปกครองในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงกรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า ๕๐๐ คน ร่วมการประชุมสัมมนา




รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่ได้ให้ความเห็นชอบแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ จึงเป็นที่มาของการประชุมสัมมนาในวันนี้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนในการเสนอแนะการดำเนินงานรับนักเรียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกำหนดทิศทางการวางแผนดำเนินงานร่วมกัน เพื่อก้าวสู่จุดหมายเดียวกัน คือ การยกระดับคุณภาพผู้เรียนและโรงเรียนให้มีคุณภาพใกล้เคียงกันต่อไป
รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการรับนักเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๔ ไว้ ๓ ประการ คือ ๑) เน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้ปี ๒๕๕๔ เป็นปีแห่งคุณภาพผู้เรียน และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนให้ดีขึ้นกว่าในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ๒) คุณภาพสถานศึกษาจะต้องใกล้เคียงกัน ๓) นักเรียนทุกคนต้องได้รับสิทธิ์ในโครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ และนักเรียนสามารถเลือกเรียนตามความถนัด มิใช่เรียนตามความต้องการของผู้ปกครอง
รมว.ศธ.มอบแนวทางการรับนักเรียนของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ดังนี้
  • รับนักเรียน ห้องเรียนละไม่เกิน ๕๐ คน
  • รับนักเรียนเพียงรอบเดียว
  • มีแผนการรับนักเรียนที่ชัดเจน โดยมีข้อมูลการรับนักเรียนย้อนหลัง ๓ ปี ซึ่งระบุจำนวนเด็กในพื้นที่บริการ เด็กจบชั้น ป.๖ ในพื้นที่บริการ และสามารถรับเด็กจากนอกเขตพื้นที่บริการเข้าเรียนได้จำนวนเท่าไร โดยโรงเรียนจัดทำข้อมูลตัวเลขดังกล่าวร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้ได้แผนการรับนักเรียนที่มีความยืดหยุ่น และเมื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ก็จะต้องปฏิบัติตามจำนวนที่ระบุไว้ในแผนเท่านั้น
  • นักเรียนจะต้องระบุโรงเรียนที่ประสงค์จะเรียนในใบสมัคร โดยเลือกโรงเรียนที่ต้องการเรียนมากที่สุดเป็นลำดับที่ ๑ และให้เลือกโรงเรียนคู่พัฒนาของโรงเรียนลำดับที่ ๑ ในลำดับที่ ๒-๔ โดยจะต้องระบุในใบสมัครด้วยว่า ถ้าไม่ได้เรียนในโรงเรียน ๔ ลำดับข้างต้น นักเรียนต้องการจะเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนและสถาบันอาชีวศึกษาใด เพื่อ ศธ.จะได้จัดทำแผนรองรับนักเรียนแบบบูรณาการร่วมกัน ๓ หน่วยงาน คือ สพฐ. สช. และ สอศ.
  • มีคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ การรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔  ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มาจากผู้ที่มีความรับผิดชอบโดยตรง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคตรวจสอบ โดยจะขอความร่วมมือจากนายกสมาคมครูและผู้ปกครองในสถานศึกษาหรือโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ไม่ให้เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียน ในปีการศึกษา ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น