วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เลื่อนสอบ O-Net ป.6 และ ม.3

   สทศ.เห็นชอบเลื่อนสอบ O-Net ป.6 และ ม.3 และเห็นชอบเลื่อนสอบ V-Net ระดับ ปวช.และ ปวส.ฝากผู้สมัครสอบ 7 วิชาที่ชำระเงินยืนยันการเลือกสนามสอบที่เว็บไซต์ สทศ.ภายใน 25 พ.ย.นี้


รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเลื่อนปฏิทินการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ประจำปีการศึกษา 2554 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา (ป.) ที่ 6 และมัธยมศึกษา (ม.) ที่ 3 ดังนี้ นักเรียนชั้น ป.6 เดิมสอบวันที่ 1 ก.พ.2555 เลื่อนเป็นวันที่ 15 ก.พ. 2555 นักเรียนชั้น ม.3 เดิมสอบวันที่ 2-3 ก.พ.2555 เลื่อนเป็นวันที่ 16-17 ก.พ.2555 และประกาศผลสอบวันที่ 31 มี.ค. 2555 สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 ให้สอบตามปฏิทินเดิมคือวันที่ 18-19 ก.พ.55 และประกาศผลสอบวันที่ 10 เม.ย.2555 นอกจากนี้ ประชุมมีมติเห็นชอบให้เลื่อนการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-Net) ประจำปีการศึกษา 2554 ด้วยจากเดิมสอบนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) วันที่ 22 ม.ค.2555 เลื่อนเป็น วันที่ 4 ก.พ.2555 และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง( ปวส. ) เดิมสอบวันที่ 29 ม.ค.2555 เลื่อนเป็นวันที่ 5 ก.พ.2555


“การเลื่อนสอบ O-Net นั้น เพื่อให้โรงเรียนและนักเรียนได้เรียนครบตามหลักสูตรการเรียนการสอน และเตรียมความพร้อมก่อนสอนอย่างเต็มที่ สำหรับการรับสมัครทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ที่ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำคะแนนไปใช้ประกอบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประจำปีการศึกษา 2555 ที่กำหนดปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2554 และชำระเงินจนถึงวันที่ 23 พ.ย.2554 นั้น สทศ.ยืนยันจะไม่ขยายวันรับสมัครและชำระเงินอีกแล้ว เนื่องจากถ้ามีการขยายออกไปอีกจะกระทบต่อการจัดสอบ และขอย้ำผู้สมัครสอบวิชาสามัญ 7 วิชา และชำระเงินเรียบร้อยแล้วต้องเข้ามายืนยันการเลือกสนามสอบในเว็บไซต์ www.niets.or.th “ระบบ 7 วิชาสามัญ” ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2554” รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว

"แท็บเล็ต" เป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียน

สพฐ.เตรียมเสนอแนวคิดให้ "แท็บเล็ต" เป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียน เชื่อบริหารจัดการได้ง่ายกว่าให้นักเรียนเป็นเจ้าของ แต่จะเปิดโอกาสให้เด็กเอากลับบ้านได้แบบรายวัน และคืนโรงเรียนช่วงปิดเทอม ชี้กรณีเด็กชั้น ป.1 จะได้รับแจกแท็บเล็ตไม่ครบทั้งหมดมอบ สพท.เป็นผู้คัดเลือกแล้ว วัดความพร้อมโรงเรียนเป็นหลัก ทั้งระบบอินเทอร์เน็ต สาธารณูปโภค ความพร้อมครู รับยังไม่มีแผนหากโรงเรียนจะร้องเรียนกรณีจัดสรรแท็บเล็ตไม่เป็นธรรม
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียน หรือ One Tablet Per Child ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแนวคิดจะเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดเครื่องแท็บเล็ตเป็นครุภัณฑ์ของโรงเรียนแทนการให้นักเรียนเป็นเจ้าของ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ หากให้เด็กเป็นเจ้าของแล้วอาจมีปัญหาเครื่องเสียหายหรือสูญหายตามมาได้ ซึ่งหากให้เป็นสิทธิ์โรงเรียนเป็นเจ้าของ เมื่อเด็กใช้เรียนเสร็จก็ต้องคืนโรงเรียน เช่น เรียนจบภาคการศึกษา เรียนจบปีการศึกษา เป็นต้น แต่ก็จะอนุญาตให้เด็กนักเรียนสามารถนำแท็บเล็ตกลับไปที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนจะต้องไปทำข้อตกลงกับนักเรียนเองภายหลังด้วย ว่าจะให้นำแท็บเล็ตกลับบ้านได้หรือไม่ และมีระเบียบอย่างไร เพราะบริบทของแต่พื้นที่แตกต่างกัน จึงอยากให้โรงเรียนมีสิทธิ์ตัดสินใจได้เอง
เลขาธิการ สพฐ.กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดสรรแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ที่อาจจัดสรรได้ไม่ครบทุกคน เนื่องจากงบประมาณปี 2555 มีจำกัด หรือได้ประมาณ 66% เท่านั้น เบื้องต้น สพฐ.จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนที่จะได้รับแจกแท็บเล็ต โดยเน้นเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อน เช่น มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึง และมีระบบสาธารณูปโภคที่ทั่วถึง ครูมีความพร้อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนกรณีโรงเรียนบางโรงอาจเรียกร้องหรือฟ้องร้องภายหลัง หากไม่ได้รับการจัดสรรแท็บเล็ตอย่างเป็นธรรมนั้น เบื้องต้น สพฐ.ก็ยังไม่มีแนวทางรองรับไว้
"สำหรับการจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ตเพื่อดำเนินโครงการนั้น ขณะนี้เราได้เปิดกว้างให้หลายบริษัทมานำเสนอ ส่วนเรื่องระบบปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นระบบแอนดรอยด์ที่มีหลายบริษัทให้เลือก หรือจะเป็นระบบโอเอสของบริษัทแอปเปิล ซึ่งเราก็จะคัดเลือกระบบที่ดีที่สุดและสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงต่อการศึกษา โดยในการตัดสินใจใดๆ นั้นก็จะพิจารณาจากผลการวิจัยโรงเรียนนำร่องแท็บเล็ต 5 โรงที่วิจัยในภาคเรียนที่ 2/2554 ด้วย ถึงจะเริ่มตัดสินใจเลือกบริษัทต่อไป” นายชินภัทรกล่าว.

ปฏิทินรับนักเรียน ปีการศึกษา 2555

สพฐ.เตรียมเสนอ”เสมา1″ เห็นชอบ …คลิกดูรายละเอียด
วันที่ 23 พ.ย.54 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดปฏิทินการรับนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2555 ดังนี้
ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา รับสมัครวันที่ 3-7 ก.พ.55 จับฉลาก ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 12 ก.พ.55 มอบตัววันที่ 19 ก.พ.55
ระดับชั้น ป.1 รับสมัครวันที่ 10-14 ก.พ.55 จับฉลาก ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 19 ก.พ.55 มอบตัววันที่ 26 ก.พ.55
ระดับชั้น ม.1 – ประเภทความสามารถพิเศษ รับสมัครวันที่ 1-2 เม.ย.55 สอบประกาศผล และรายงานตัววันที่ 3 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 21 เม.ย.55
- ประเภทสอบคัดเลือก และใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) รับสมัครวันที่ 1-4 เม.ย.55 สอบคัดเลือกวันที่ 7 เม.ย.55 ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 10 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 21 เม.ย.55
- ประเภทจับฉลากในเขตพื้นที่บริการ รับสมัคร วันที่ 1-4 เม.ย.55 จับฉลาก ประกาศผล และรายงานตัววันที่ 11 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 21 เม.ย.55
- ประเภทเงื่อนไขพิเศษ รับสมัครวันที่ 1-4 เม.ย.55 ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 10 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 21 เม.ย.55
ระดับชั้น ม.4 โรงเรียนที่เปิดสอนระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย – ประเภทนักเรียนที่จบชั้น ม.3 เดิม รายงานตัววันที่ 12 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 22 เม.ย.55
- ประเภทนักเรียนที่จบชั้นม.3 จากโรงเรียนอื่น รับสมัครวันที่ 1-4 เม.ย.55 สอบคัดเลือกวันที่ 8 เม.ย.55 ประกาศผลวันที่ 11 เม.ย.55 รายงานตัววันที่ 12 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 22 เม.ย.55
- ประเภทเงื่อนไขพิเศษ รับสมัครวันที่ 1-4 เม.ย.55 ประกาศผลวันที่ 11 เม.ย.55 รายงานตัววันที่ 12 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 22 เม.ย.55 ส่วนโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะม.ปลาย
- ประเภทความสามารถพิเศษ รับสมัครวันที่ 1-2 เม.ย.55 สอบ ประกาศผล และรายงานตัววันที่ 3 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 22 เม.ย.55
- ประเภทสอบคัดเลือก รับสมัครวันที่ 1-4 เม.ย. 55 สอบคัดเลือกวันที่ 8 เม.ย.55 ประกาศผล และรายงานตัววันที่ 11 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 22 เม.ย.55 ประเภทเงื่อนไขพิเศษ รับสมัครวันที่ 1-4 เม.ย.55 ประกาศผล และรายงานตัววันที่ 11 เม.ย.55 มอบตัววันที่ 22 เม.ย.55
โรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ และโรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษ ระดับชั้น ม.1 รับสมัครวันที่ 16-20 ก.พ.55 สอบ 25 ก.พ.55 ประกาศผล 4 มี.ค.55 รายงานตัวภายในวันที่ 6 มี.ค.55 ระดับชั้น ม.4 รับสมัครวันที่ 16-20 ก.พ.55 สอบ 26 ก.พ.55 ประกาศผลวันที่ 4 มี.ค.55 รายงานตัวภายในวันที่ 6 มี.ค.55
ส่วนโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ รับสมัครวันที่ 1-30 เม.ย.55 ประกาศผลวันที่ 1 พ.ค.55 รายงานตัวภายในวันที่ 8 พ.ค.55
และโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส รับสมัครวันที่ 16-25 ก.พ.55 สอบ 26-28 ก.พ.55 ประกาศผลวันที่ 29 ก.พ.55 และรายงานตัววันที่ 13 มี.ค.55

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จดหมายเปิดผนึก ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ฉบับที่ ๑๐/๒๕๕๔

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 10 / 2554

สวัสดีครับพี่น้องชาวแผนและผู้สนใจทุกท่าน

                        วันนี้เริ่มต้นปีงบประมาณใหม่แล้ว  หากเหตุการณ์ปกติ  เราก็จะได้ใช้งบประมาณปี 2555  ตั้งแต่วันนี้เลย  แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่  ดังนั้นจึงทำให้งบประมาณปี  2555     ล่าออกไปจากกำหนดเดิมประมาณ  4  เดือน  หากพิจารณาตามปฏิทินงบประมาณแล้ว   งบประมาณจะเรียบร้อยในราวปลายเดือนมกราคม  2555  อย่างไรก็ตาม  เราจะได้ใช้งบประมาณส่วนหนึ่งก่อนแต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของปี 2554  ตั้งแต่ 1  ตุลาคม  2554  เป็นต้นไป  ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง  ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย คำที่สำนักงบประมาณใช้ก็คือ ใช้งบประมาณปี 2554 ไปพลางก่อน หลายท่านเข้าใจผิดกับคำดังกล่าว  ซึ่งเข้าใจว่าใช้งบปี  2554  ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว  จริง ๆ  แล้วเป็นการใช้งบประมาณปี 2555  แต่ภายใต้กรอบวงเงินปี 2554  โดยได้มาไม่เกินครึ่งหนึ่งของปี 2554
                        จดหมายฉบับที่ 9/2554  ผมไม่ได้ตอบกระทู้เลย  มีข้อแก้ตัวหลายประการครับ   แต่เหตุผลหลัก ๆ  ก็คือ บางสิ่งบางอย่างยังไม่ชัดเจน  โดยเฉพาะเรื่องวิทยฐานะและการจ้างอัตราจ้าง  มาชัดเจนเอาตอนปลายเดือนกันยายน  2554  จดหมายฉบับนี้คงคุยเรื่องวิทยฐานะ อัตราจ้าง งบประมาณปลายปี 54 และทิศทางการจัดการศึกษาปี 2555  เริ่มเลยนะครับ 

วิทยฐานะ
                        เดิมคาดว่า  สิ้นตุลาคม  2554 นี้  ผู้ที่ได้เลื่อนวิทยฐานะจะได้รับเงินค่าตอบแทนวิทยฐานะใหม่ไปเลย  แล้วไปรอตกเบิกเดือนกุมภาพันธ์  2555  เหตุการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วครับ  กล่าวคือ  ทั้งค่าตอบแทนวิทยฐานะใหม่  และตกเบิกวิทยฐานะต้องไปรับพร้อมกันในเดือนกุมภาพันธ์  2555 และผู้ที่ได้รับตกเบิกรอบนี้เดิมขอไปถึงผู้ที่ได้รับคำสั่งถึงกุมภาพันธ์  2554  แต่ขณะนี้ลดเป้าหมายลงไปอีก  จะได้ตกเบิกสำหรับสำหรับผู้ที่ได้รับคำสั่งตั้งแต่  1  ธันวาคม  2552 30 กันยายน  2553  ผมเห็นใจทุกท่านครับที่รอคอยเงินวิทยฐานะ  แต่เรื่องนี้เหนือการควบคุมจริง ๆ  ครับ  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สนผ.ได้รวบรวมข้อมูลผู้ที่ผ่านวิทยฐานะทั้งหมดถึงปัจจุบันเพื่อขออนุมัติใช้งบกลางจากคณะรัฐมนตรี คุณครูจะได้ไม่ต้องรอตกเบิกอีกต่อไปครับ
                       
อัตราจ้าง 
                        คงหายข้องใจแล้วนะครับ  หลังจากที่มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบ  เรื่อง  การจ้างอัตราจ้างตำแหน่งต่าง ๆ  สรุปว่าจ้างต่อทุกตำแหน่ง  ตั้งแต่  1  ตุลาคม  2554  เป็นต้นไป  ถึงแม้ว่ามีบางตำแหน่งที่ คณะรัฐมนตรี ชุดเดิมตัดออกไป  แต่ สพฐ.ก็พยายามขอตั้งงบประมาณเพิ่มเติมกลับมาอีก  สำหรับเรื่องตำแหน่งถาวรของน้อง    ธุรการ  ขณะนี้
ก.ค.ศ. ยังไม่อนุมัติ  แต่  สพฐ.ก็พยายามต่อสูให้ต่อไปครับ

งบประมาณปลายปี  2554
                        ช่วงปลายปีงบประมาณ 2554  มีการจัดสรรงบประมาณลงสู่เขตพื้นที่ และโรงเรียน  3  รายการใหญ่    คือ  งบแปรญัตติที่เป็นงบลงทุน  งบปกติที่เป็นงบลงทุน  (สิ่งก่อสร้าง ,ครุภัณฑ์)  และงบดำเนินงาน (สื่อ อุปกรณ์ โต๊ะ เก้าอี้)   งบประมาณดังกล่าวหากส่วนใดดำเนินการได้ทัน  ก็คงเรียบร้อยไปแล้ว  ส่วนที่ดำเนินการไม่ทัน  สำนักการคลังและสินทรัพย์  ก็ทำเรื่องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีให้แล้ว  (ถ้า สพท.แจ้งเรื่องให้ สคส. ขอกันเงิน)  การกันเงินจะกันสองแบบ  คือ  กันเงินแบบมีหนี้ผูกพัน  (ลงนามในสัญญาซื้อ จ้าง แล้ว แต่งวดงานต้องทำเลย  30  กันยายน  54)  และกันเงินแบบไม่มีหนี้ผูกพัน  (ยังหาผู้ขาย รับจ้างไม่ได้)  ด้วยความที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาที่กรมบัญชีกลางจะปิดระบบการกันเงินเหลื่อมปี  ดังนั้นจึงเกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับชื่อโรงเรียน  หรือกำหนดชื่อโรงเรียนไว้ผิดเขตพื้นที่บ้างเหมือนกัน  เรื่องนี้พี่น้องชาวแผนไม่ต้องกังวลครับ  สพฐ.ได้ปรับแก้ไขให้ถูกต้องแล้วครับ และทำเรื่องแจ้งเขตพื้นที่แล้ว  รายการที่กันเงินแบบไม่มีหนี้ ขณะนี้คงทำได้เพียงแค่เตรียมการหาผู้ขาย ผู้รับจ้างเท่านั้น  จะลงนามในสัญญาซื้อ จ้างได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบโอนเงินจากสำนักการคลังและสินทรัพย์ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วก็คงปลายเดือนตุลาคม  อย่างช้าพฤศจิกายน  2554
           
ทิศทางการจัดการศึกษา ปี 2555
            เพื่อให้เกิดภาวะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทิศทางการจัดการศึกษา ปี 2555 ซึ่งล่าสุดได้มีการประชุม องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ กรอบแนวคิด เป้าหมาย ประเด็นยุทธศาสตร์ กลไลการขับเคลื่อน ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
 วิสัยทัศน์
ภายใน ปี 2555 กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นองค์กรหลักที่ทรงประสิทธิภาพในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคลากรของชาติ เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมให้กับประเทศ ด้วยฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพของประเทศ
 พันธกิจ
พัฒนา ยกระดับ และจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถให้ประชาชนได้มีอาชีพที่
สามารถสร้างรายได้ที่มั่งคั่งและมั่นคง เพื่อเป็นบุคลากรที่มีวินัย เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม
 กรอบแนวคิด
1. คำนึงถึงศักยภาพและบริบทรอบๆ ตัวผู้เรียน
2. พัฒนาและยกระดับองค์ความรู้และกระบวนการเรียนการสอนให้ทัดเทียมอารยะประเทศ ด้วยการบริหารจัดการ
    และเทคโนโลยีสมัยใหม่
3. มุ่งสู่เป้าหมายของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับศักยภาพในการทำงานให้กับบุคลากร
    คนไทย ให้แข่งขันได้ในระดับสากล
 เป้าหมาย
2 กรอบระยะเวลาของแผน หมายถึง ช่วงเวลาในการดำเนินงานตามแผน ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่
 2 ปี แรก หมายถึง พ.ศ. 2555-2556 (2012-2013) และ
 2 ปี หลัง หมายถึง พ.ศ. 2557-2558 (2014-2015) (AEC 2015)
5 ภูมิภาคหลักของโลก หมายถึง ทวียุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกา เพื่อให้ คนไทย รู้ศักยภาพเขา
5 ศักยภาพหลักของพื้นที่ หมายถึง ศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ ศักยภาพของพื้นที่ตามหลักภูมิอากาศ ศักยภาพของภูมิประเทศ และทำเลที่ตั้งของแต่ละพื้นที่ ศักยภาพของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ และศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละพื้นที่เพื่อให้คนไทย รู้ศักยภาพเรา
5 กลุ่มอาชีพใหม่ หมายถึง กลุ่มหลักสูตรใหม่ด้าน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชย กรรม ความคิดสร้างสรรค์ และด้านอำนวยการ บริหารจัดการและการบริการ เพื่อให้คนไทยสามารถปรับตัว เท่าทัน และแข่งขันได้

 ประเด็นยุทธศาสตร์
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน/ประชาคมโลก
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสถานศึกษาและองค์ความรู้
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาครูทั้งระบบ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาศักยภาพผู้เรียน
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 การวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 7 การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 8 การส่งเสริมการมีงานทำ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 9 การบริหารจัดการกลยุทธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ

 โครงการสำคัญ (Flagship)
1. โครงการกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู
2. ครงการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)
3. ครงการกองทุนตั้งตัวได้
4. ครงการครูคลังสมอง
5. โครงการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ
6. โครงการวิจัยศักยภาพพื้นที่
7. โครงการปฏิรูปเงินเดือนและค่าตอบแทน
8. โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
9. โครงการพัฒนาผู้นำตามธรรมชาติ
10.โครงการเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
11.โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน
12.โครงการเทียบระดับการศึกษา
13.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต
14.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน
15.โครงการถ่ายทอดผลงานวิจัย
16.โครงการมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการ
17.โครงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมโลก
18.โครงการพัฒนาระบบบริหารวิสาหกิจเพื่อการศึกษา
19.โครงการพัฒนาการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
20.โครงการโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 กลไลการขับเคลื่อน
 การเผยแพร่ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจใน 5 ภูมิภาค โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
   ศึกษาธิการร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ต.ค. พ.ย. 54)
 การจัดทำสื่อเผยแพร่ทุกรูปแบบ (ต.ค. 54 ก.ย. 55)
 การพัฒนาบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ
 การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย
   คณะกรรมการติดตามและประเมินผล ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เลขาธิการ
   สภาการศึกษาเป็นเลขานุการ

หวังว่าสาระต่างๆ ที่นำเสนอในจดหมายฉบับนี้ คงเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของท่านนะครับ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจในการทำงานขอให้กำลังใจนี้กลับคืนสู่ทุกท่านร้อยเท่าทวีคูณครับ

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

(ร่าง) ยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ 2555

(ร่าง) ยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ 2555
  • รูปแบบการดำเนินงานบูรณาการระบบดิจิตอลเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาไทย ดาวน์โหลด

  • นโยบายพรรคเพื่อไทย ดาวน์โหลด

  • ร่างยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ 2554-2555 ดาวน์โหลด1 ดาวน์โหลด 2

  • ยุทธศาสตร์ 2555 ดาวน์โหลด

  • Road Map ยุทธศาสตร์ 2555 ดาวน์โหลด

  • ศธ.เตรียมฟื้นโครงการทุนอำเภอ

    นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายให้ศธ.ดำเนินการนั้น ในส่วนของสำนักงานปลัด ศธ. ซึ่งดูแล 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) และ สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ กศน.เร่งดำเนินการ 2 เรื่องหลัก คือ 1.การจัดการศึกษาผู้สูงอายุ , เด็กเร่ร่อน และเด็กที่ออกกลางคันจากโรงเรียนในระบบ และ 2.ให้เพิ่มสัดส่วนการจัดการศึกษาต่อเนื่องหรือการศึกษาอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่ง กศน.จะต้องไปปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอนและจัดหาวิทยากรมาสอนอาชีพเพิ่มขึ้น โดยตนได้มอบให้สำนักงาน กศน.ไปดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตามในการจัดการศึกษาอาชีพนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายค่าตอบแทนวิทยากร เนื่องจากที่ไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2532 แต่เมื่อ รมว.ศธ. ให้ความสำคัญก็คงต้องมีการปรับเพื่อนำมาจ้างวิทยากรที่มีความรู้สามารถจริง ๆ เข้ามาสอนอาชีพได้ และจูงใจให้คนเข้ามาเรียนมากขึ้น

    ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ สช.นั้น คงต้องไปปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชน ทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพให้สอดคล้องกับนโยบายมากขึ้น สำหรับ ก.ค.ศ.ก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้ครูปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความรู้ความสามารถและยกระดับการเรียนการสอนให้ดีที่สุด โดยใช้มาตรการจูงใจด้วยระบบตำแหน่งและอัตราเงินเดือน  และที่สำคัญ ก.ค.ศ.จะต้องไปพิจารณาเรื่องการปรับอัตราเงินเดือนครูที่มีวุฒิปริญญาตรีให้ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะต้องดูทั้งระบบว่าจะปรับอย่างไร เพื่อแจ้งไปยังหน่วยงานที่มีครูในสังกัดดำเนินการของบประมาณส่วนนี้เพิ่มเติม

    รมว.ศธ.ยังมอบหมายให้ประสานงานไปยังคุรุสภาเพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อดูแลผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแต่มีความจำเป็นที่จะต้องขอให้มาช่วยสอนในสาขาที่ขาดแคลน เช่น ช่างสาขาต่าง ๆ  หรือ พ่อครัว เป็นต้น นอกจากนี้รมว.ศธ.ยังมีนโยบายที่จะฟื้น โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน  ซึ่งจะเป็นรุ่นที่ 3 หลังจากยุติโครงการไปหลายปี โดยจะเริ่มในปี 2555 ซึ่งสำนักงานปลัดศธ.จะต้องเร่งดำเนินการต่อไปนายอภิชาตกล่าว

    ที่มา : นสพ.เดลินิวส์

    "พท."รื้อใหญ่"เรียนฟรี"ไม่ให้ครบทุกคน

    "ภาวิช" เผยพรรคเพื่อไทยเตรียมรื้อนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เปลี่ยนคำเรียกใหม่เป็น "โครงการรัฐออกค่าใช้จ่ายให้" จะไม่แจกฟรีให้เด็กทุกคนอีก แต่จะให้เรียนฟรีเฉพาะครอบครัวยากจนเท่านั้น และแบ่งโซนจัดสรรงบตามสภาพพื้นที่ ดูแลเด็กตั้งแต่ในท้องยันคลอดถึง ม.ปลาย จวกนโยบายเรียนฟรี ปชป.ล้มเหลว ทำให้เกิดปัญหาขาดงบ ต้องปิด รร.ขนาดเล็ก "ปลัด ศธ." ขานรับพร้อมไปศึกษาทันที
     นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้จัดทำนโยบายการศึกษา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความชัดเจนนโยบายเรียนฟรีตั้งแต่แรกเกิดว่า ขณะนี้นโยบายดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนคำเปลี่ยนประโยคแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดเหมือนนโยบายของรัฐบาลเก่าที่ใช้คำว่า ฟรีจนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลได้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด 100% โดยการเปลี่ยนคำเปลี่ยนประโยคเป็น โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายให้เบื้องต้นสำหรับนโยบายดังกล่าวนั้น จะออกค่าใช้จ่ายในส่วนใด เท่าไหร่ ก็ต้องรอตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน ซึ่งวัตถุประสงค์ของนโยบายนี้ชัดเจนอยู่แล้วที่ต้องการจะออกค่าเล่าเรียนให้นักเรียน แต่ก็อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะต้องมาดูบริบทของพื้นที่ก่อน ว่าพื้นที่ไหนควรออกค่าใช้จ่ายให้ได้ทั้งหมด และพื้นที่ไหนควรออกค่าใช้จ่ายแค่บางส่วน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลใหม่จะออกค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการให้มากกว่ารัฐบาลเก่าแน่นอน
     คงทำไม่ได้แน่ หากรัฐบาลต้องออกค่าใช้จ่ายให้นักเรียนทั้งหมด เพราะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่แนวทางเบื้องต้น รัฐก็ยังให้โอกาสสำหรับครอบครัวที่มีฐานะยากจนจริงๆ ที่จะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ในนโยบายดังกล่าวก็มีวัตถุประสงค์ที่จะดูแลเด็ก ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์เลย เบื้องต้นอาจเริ่มต้นด้วยการแนะนำการปฏิบัติตัวให้แม่ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด การแนะนำเรื่องสารอาหาร อาทิ ไอโอดีน เป็นต้น
     นายภาวิชกล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 อย่างมีคุณภาพ ของรัฐบาลเก่านั้น ตนเห็นว่าล้มเหลวอย่างมาก เพราะดันไปตั้งงบอุดหนุนรายหัวให้เด็กในจำนวนที่เท่ากันทั้งหมด โดยไม่ได้ดูว่าเด็กคนไหนมีฐานะครอบครัวดีหรือยากจน ส่งผลให้งบอุดหนุนดังกล่าวไม่ได้ไปช่วยเหลือเด็กที่มีครอบครัวฐานะยากจนมากนัก ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลใหม่ก็จะมีการจัดสรรงบอุดหนุนรายหัวให้เด็กไม่เท่ากัน โดยดูบริบทฐานะทางครอบครัวเป็นหลัก อาทิ เด็กจนได้รับการอุดหนุนทั้งหมด เด็กรวยได้รับการอุดหนุนบางส่วน หรือไม่ได้รับเลย เพื่อจะได้ไม่ใช้งบมาก และจะได้เกิดประโยชน์กับเด็กจนอย่างแท้จริง ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลใหม่นอกจากจัดสรรงบอุดหนุนรายหัวใหม่ เพื่อให้มีงบเหลือแล้ว ก็จะไม่ไปไล่ปิด รร.ขนาดเล็ก และไม่ไปจำกัดการซื้อหนังสืออ่านเสริมด้วย นโยบายนี้จะสามารถเริ่มใช้ได้ในปีการศึกษา 2555
     ผมได้ข้อมูลมาว่ารัฐบาลเก่าได้ใช้งบไปอุดหนุนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้งบในส่วนอื่นๆ เริ่มขาดและถูกจำกัด อย่างการซื้อหนังสือเรียนฟรี รัฐก็จัดซื้อหนังสือหลักๆ ของแต่ละกลุ่มสาระเท่านั้น โดยไม่มีการจัดซื้อหนังสือเพื่อไว้อ่านเสริมเลย ส่งผลให้คะแนนสอบต่างๆ เริ่มจะตก อาทิ ผลสอบโอเน็ตนายภาวิชกล่าว
     นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ตนได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการสำนักงานปลัด ศธ. เพื่อเตรียมการปรับแผนโครงการตามนโยบายพรรคเพื่อไทย โดยมีเรื่องสำคัญที่ได้มอบหมายให้ไปจัดทำรายละเอียด  คือ โครงการเรียนฟรี ที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายว่าให้เรียนฟรีเริ่มตั้งแต่แรกเกิด
        ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น เด็กทารกแรกเกิดไปจนกระทั่งก่อนอายุ 4 ปี จะอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะดูแลตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้น ทั้ง  3 หน่วยงานอาจจะต้องมาหารือร่วมกัน โดยเบื้องต้นคงต้องรอดูรายละเอียดที่แน่ชัดว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้ต้องมีการจำแนกงบประมาณเรียนฟรีไปให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเด็กหรือไม่ ทั้งนี้ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานมองว่าการดำเนินโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาระยะเวลา 3 ปีนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จ ถึงแม้ในช่วงแรกอาจจะมีติดขัดบ้าง แต่ขณะนี้ก็ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว.

    ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์

    ก.ค.ศ.ปรับใหญ่เกณฑ์แต่งตั้งผอ.ร.ร

    ก.ค.ศ.ปรับใหญ่เกณฑ์แต่งตั้งผอ.ร.ร
    ก.ค.ศ.ปรับใหญ่เกณฑ์แต่งตั้งผอ.ร.ร. ยึด4หลักการย้าย-ยื่นคำร้องขอได้ตั้งแต่ 9-19ส.ค.

    นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวภายหลังการประชุมก.ค.ศ. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ซึ่งมีประเด็นหลักๆ ที่ปรับแก้ 1.หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายใหม่ เช่น ผู้บริหารสถานศึกษาหมายถึง ผอ.และรอง ผอ.สถานศึกษา 2.กำหนดให้การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานในสถานศึกษานี้ แต่มีความสามารถมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 1 ปี 3.การจัดประเภทของสถานศึกษาเป็น 4 ประเภท ได้แก่ สถานศึกษาสังกัด สพป. สพม. สถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษและสถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ และสถานศึกษาคุณภาพพิเศษ 4.การกำหนดขนาดสถานศึกษา 4 ขนาด เปิดช่องให้ผู้บริหารสถานศึกษาขนาดเล็กย้ายข้ามไปขนาดใหญ่ได้หากเหมาะสม

    "การขอย้ายกรณีพิเศษแต่ละครั้งจะมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองในระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งมี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นประธาน นอกจากนี้จะให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ มีรองฯ กพฐ.เป็นประธาน" นางศิริพรกล่าว

    เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อว่า การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาในกลุ่มสถานศึกษาวัตถุประสงค์พิเศษ และสถานศึกษาคุณภาพพิเศษ จะให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง มีเลขาฯ กพฐ.เป็นประธาน เสนอให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่พิจารณา ซึ่งอาจเห็นชอบด้วยหรือไม่ก็ได้ สำหรับรายชื่อร.ร.กลุ่มนี้ สพฐ.จะต้องเสนอให้ที่ประชุม กพฐ.เห็นชอบ และประกาศในวันที่ 8 ส.ค.นี้ สำหรับปฏิทินการย้ายประจำปี 2554 จะให้ยื่นคำร้องขอย้ายระหว่างวันที่ 9-19 ส.ค.

    ที่มา : นสพ.ข่าวสด

    “วรวัจน์” ประกาศแจกแท็บเล็ตครูทุกคน

    “วรวัจน์” ประกาศแจกแท็บเล็ตครูทุกคน ปัดแบ่งงานใหม่ อ้อนขอเวลาตัดสิน ยาหอมบิ๊ก ศธ. ไม่มีโยกย้ายฟ้าผ่า

    นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กรณี รมช.ศึกษาธิการจะขอหารือเรื่องการแบ่งงานใหม่ เนื่องจากมองว่าเป็นการรวบอำนาจและอาจจะเป็นปัญหาทางการเมืองในอนาคตว่า เรื่องนี้น่าจะทำความเข้าใจกันได้ ปัญหาคนในพรรคไม่ใช่ประเด็นปัญหา เรื่องดีที่สุดคือประสิทธิภาพของงานและสิ่งที่ประชาชนได้รับ  อยากให้ลองทำงานในรูปแบบใหม่ก่อนว่าดีหรือไม่ดี ทำไมต้องกลับไปสู่ระบบเก่า ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าคำพูดมองดูดีแต่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัตินั้น เรื่องนี้มีการพูดคุยกันแล้วทุกองค์กรหลักก็บอกว่าไม่มีปัญหาสามารถแบ่งงานกันได้  หากรัฐมนตรีท่านไหนลงพื้นที่ทุกองค์กรหลักจะต้องลงไปหมดเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันจะทำให้มีพลังพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่รัฐมนตรีคนไหนกำกับแท่งไหนก็ลงไปเฉพาะแท่งนั้น  ทั้งนี้ หากแบ่งงานในความรับผิดชอบตามภูมิภาคแล้วประสิทธิภาพของงานออกมาไม่ดี ตนก็พร้อมที่จะพูดคุยกันอีกครั้ง แต่ส่วนตัวมองว่ารูปแบบการทำงานแบบนี้อาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีก็ได้ ขอเวลาได้ลองทำงานดูก่อน

    ต่อข้อถามว่าจะให้เวลาข้าราชการทำงานกี่เดือนถึงจะพิจารณาโยกย้าย นายวรวัจน์กล่าวว่า จะปล่อยให้เป็นไปตามวาระปกติ เพราะตนไม่มีอะไรในใจ ไม่มีคนของใคร  ตนเข้ามาทำงานร่วมกัน  คนไหนมีประสิทธิภาพก็ทำหน้าที่ไป ยืนยันว่าจะไม่เอาใครเข้ามาเป็นพิเศษหรือย้ายข้ามห้วย  ยกเว้นเพื่อประสิทธิภาพของงานเท่านั้น

    รมว.ศึกษาธิการกล่าวด้วยว่า  ส่วนการแจกแท็บเล็ตนั้น ไม่ใช่จะมีเฉพาะนักเรียนเท่านั้นแต่ครูทุกคนที่อยู่ในระบบการเรียนการสอนก็ต้องมีแท็บเล็ตด้วยเพราะต้องใช้ตรวจสอบส่งความรู้และสื่อสารกับนักเรียน อย่างไรก็ตามการกำหนดสเปกคงไม่ใช่สเปกเดียวแล้วใช้กับทุกระดับชั้น  แต่ให้เป็นไปตามหลักสูตรของแต่ละชั้นเรียน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปกำหนดสเปก ส่วนกรณีที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศแสดงท่าทีจะซื้อแท็บเล็ตนั้นต้องพูดคุยกันอีกครั้ง

    ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษใหม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ผลการเรียนรู้ของลูกศิษย์เป็นตัวตั้ง ไม่ได้อยู่ที่ครู ผู้บริหาร งบประมาณ กระทรวง หรือแม้กระทั่งการซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนตามที่มีพรรคการเมืองใช้หาเสียง โดยอ้างว่าจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น.
    โดย: ทีมข่าวการศึกษา
    18 สิงหาคม 2554, 07:00 น.

    วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

    นโยบาย 6 เดือน 6 คุณภาพ ของ กระทรวงศึกษาธิการ

    นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมกระทรวงศึกษาธิการครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ เมื่อเร็วๆ นี้
          รมว.ศธ. กล่าวว่า จุดเน้นเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของ ศธ.ในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ได้ขอให้องค์กรหลักและส่วนราชการในกำกับ ศธ. มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมกันทำงานเชิงบูรณาการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อพัฒนาการศึกษาของ ศธ.ให้เจริญก้าวหน้า และสนองตอบต่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างแท้จริง โดยควรทำให้ประชาชนเห็นว่า เด็กไทยจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างไร และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
            ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้
            1.จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ  ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ศธ.จะมีการประกาศจุดเน้น “6 เดือน 6 คุณภาพการศึกษาให้มีความชัดเจน ได้แก่
               1. โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพซึ่งได้รับงบปี 2554 เพิ่มเป็น 8 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องลงไปสู่สถานศึกษาอย่างแท้จริง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปวางระบบให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงบ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนอย่างแท้จริง
               2. การประกาศจุดเน้นเรื่องคุณภาพของผู้เรียนแต่ละระดับ
               3. เน้นการศึกษาตลอดชีวิตของประชาชน โดยจะประกาศให้ กศน.ตำบลเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนกว่า 30 ล้านคน
               4.คุณภาพสถานศึกษายุคใหม่ที่จะส่งเสริมให้มีโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อเพิ่มความเท่าเทียมทางการศึกษาให้มากขึ้น
               5.การส่งเสริมเทคโนโลยีและสารสนเทศ โดยจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และ
               6.คุณภาพครู โดยจะดำเนินการพัฒนาครูทั้งระบบ ซึ่งตนได้มอบหมายให้องค์กรหลังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแต่ละจุดเน้นนำไปบูรณาการเพื่อให้การดำเนินงานมีความเชื่อมโยงกันต่อไป
           ข้อเสนอนโยบายการจัดสมัชชาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่ง สกศ.ได้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบสมัชชาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อศึกษาและออกแบบสมัชชาการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และสอดคล้องกับแผนการศึกษากลุ่มจังหวัด/จังหวัด
    โดยมีการทดลองนำร่องจัดสมัชชาการศึกษาใน ๘ จังหวัด ใน ๔ ภูมิภาคๆ ละ ๑ กลุ่มจังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ จ.พิษณุโลกและอุตรดิตถ์ ภาคกลางตอนบน ๑ จ.พระนครศรีอยุธยาและนนทบุรี และภาคใต้ชายแดน จ.สงขลาและสตูล

              ซึ่งผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการจัดสมัชชาการศึกษา ควรเป็นรูปแบบที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและรวมพลังของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เรียกว่า ๓๓๓ หรือ  “Triple Three Model” ซึ่งประกอบด้วย
               - ๓ ตัวแรก หมายถึง ระดับจัดสมัชชาการศึกษา ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับชาติ
               - ๓ ตัวที่สอง หมายถึง องค์ประกอบสมัชชาในแต่ละระดับ มี ๓ ภาค ได้แก่ ภาคองค์ความรู้ ภาคประชาชน และภาครัฐ ที่มีการสื่อสารแบบสองทาง
               - ๓ ตัวที่สาม หมายถึง กิจกรรมของสมัชชาการศึกษาแต่ละระดับ มี ๓ กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ การประชุมสมัชชา และการติดตามผลข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ
                 รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สกศ.นำผลการวิจัยครั้งนี้ร่วมกับข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองด้านการมีส่วนร่วม เพื่อดำเนินการกำหนดวิธีการและจัดรูปแบบการมีส่วนร่วมให้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง รมว.ศธ.ได้เสนอให้มีรูปแบบการมีหุ้นส่วนทางการศึกษา PPP รูปแบบกรรมการสถานศึกษาทุกระดับ และรูปแบบโรงเรียนดีประจำตำบล นอกจากนี้ รมว.ศธ.ยังได้กล่าวถึงผลการวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้คะแนนความพึงพอใจเกี่ยวกับความเชื่อว่าจะสามารถปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองได้สำเร็จ ถึงร้อยละ ๖ ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่น่าพึงพอใจ แต่ยังมีจุดอ่อนด้านการมีส่วนร่วม จึงขอให้ สกศ. ไปศึกษาการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
               รูปแบบการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่ง สกศ.ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ในการจัดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ๔ ภูมิภาค ๔ รุ่นๆ ละ ๖๐ คน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และเทคโนโลยี ผลงานการสร้างสรรค์สื่อ โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Book และนำสื่อที่ผลิตไปใช้กับนักเรียน ซึ่งมีรูปแบบความร่วมมือระหว่างองค์กรกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนด้วย
               สำหรับผลการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาเรื่องความรู้ความเข้าใจด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยี ตลอดถึงกระบวนการพัฒนาหนังสือ พบว่า ครูและบุคากรทางการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจด้านการใช้สื่อ และกระบวนการพัฒนาหนังสือเพิ่มขึ้น มีทักษะการใช้เทคโนโลยีและผลงานสร้างสรรค์สื่อ สามารถพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปภาพ สีสัน ดึงดูดความสนใจได้หลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา เห็นว่า การนำสื่อและเทคโนโลยีไปใช้ในสถานศึกษา เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา

                 รมว.ศธ.กล่าวย้ำเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นนโยบายหลักของ ศธ.อยู่แล้ว จึงได้มอบหมายให้ สป.จัดการพัฒนา e-Learning เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และนำผลการอบรมครูไปร่วมเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นนโยบายหลักต่อไป
                เป้าหมายและการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗ และผลการดำเนินงาน ภาพความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนดีประจำอำเภอ ซึ่ง สพฐ.ได้เสนอการพัฒนาสถานศึกษาให้ไปสู่สถานศึกษายุคใหม่ ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ๓๒,๐๐๐ โรงเรียน ประกอบด้วย ยกระดับเป็นโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล ๕๐๐ โรงเรียน โรงเรียนดีประจำอำเภอ ๒,๕๐๐ โรงเรียน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล ๗,๐๐๐ โรงเรียน ส่วนอีก ๒๒,๐๐๐ โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนและหมู่บ้าน สำหรับโรงเรียนดีประจำตำบล ได้มีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการดำเนินการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ในรูปแบบ ๗๗๗ คือ
           - ๔ เดือนแรก ดำเนินการ ๗ ประการ คือ มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีเป้าหมายพัฒนานักเรียนที่เข้าใจถูกต้องตรงกัน สถานศึกษาสะอาด มีบริเวณโดยรอบร่มรื่น สวยงาม มีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้าน มีความปลอดภัย ปลอดสารเสพติด และเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและพัฒนา
            - ๔ เดือนต่อมาจะต้องดำเนินการ ๗ ประการ คือ มีห้องสมุด ๓ ดี มีห้องปฏิบัติการ มีศูนย์การเรียนรู้อาชีพ มีศูนย์กีฬาชุมชน มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ มีครูที่ใช้แหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีการบริหารที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
             - อีก ๔ เดือนต่อไป ต้องการให้โรงเรียนดีประจำตำบลมี ๗ อย่าง คือ มีชื่อเสียงดี มีนักเรียนใฝ่รู้ ปลูกฝังให้นักเรียนใฝ่เรียน และใฝ่ดี มีความเป็นไทย สุขภาพดี และรักการงานอาชีพ
             รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ศธ.จะประกาศการพัฒนาสถานศึกษายุคใหม่ ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อให้มีการขับเคลื่อนเรื่องสถานศึกษายุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้มอบให้ สพฐ.ดำเนินการ ๓ เรื่อง ได้แก่
               ๑.พัฒนารูปแบบโรงเรียนดีประจำตำบลให้สนองตอบต่อการเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน มีทั้งระดับปฐมวัย มีการเรียนร่วม และเรียนปกติที่มีความพร้อมอยู่ในโรงเรียนเดียว
               ๒.มุ่งเน้นให้โรงเรียนดีประจำตำบลมีบุคลากรที่มีความสามารถในการสอนทุกสาระการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับโรงเรียนเครือข่าย หรือโรงเรียนพี่เลี้ยงในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อต่อยอดความเป็นเลิศให้กับนักเรียน และ
               ๓.มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางสอดคล้องกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน กศน.ตำบล เป็นการสร้างฐานการเรียนรู้ในระดับล่างที่มีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังได้เสนอรูปแบบการพัฒนาสถานศึกษายุคใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ ที่สังกัด สพฐ. ๕๐๐ โรงเรียน และสังกัด สช. ๕๐๐ โรงเรียน และโรงเรียนมุ่งสู่มาตรฐานสากล
    ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ข่าวที่ 332/2553
    สรุป : ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณา 6 จุดเน้นคุณภาพปี 2554 รูปแบบการจัดสมัชชาการศึกษา ควรเป็นรูปแบบที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและรวมพลังของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เรียกว่า ๓๓๓ หรือ  “Triple Three Model” รูปแบบการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายและการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗

    ที่มา ต้นฉบับ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ http://www.moe.go.th/moe/upload/news20/FileUpload/21434-8841.pdf