วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

นโยบาย 6 เดือน 6 คุณภาพ ของ กระทรวงศึกษาธิการ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมกระทรวงศึกษาธิการครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ เมื่อเร็วๆ นี้
      รมว.ศธ. กล่าวว่า จุดเน้นเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของ ศธ.ในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ได้ขอให้องค์กรหลักและส่วนราชการในกำกับ ศธ. มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมกันทำงานเชิงบูรณาการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อพัฒนาการศึกษาของ ศธ.ให้เจริญก้าวหน้า และสนองตอบต่อการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างแท้จริง โดยควรทำให้ประชาชนเห็นว่า เด็กไทยจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างไร และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
        ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้
        1.จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ  ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ศธ.จะมีการประกาศจุดเน้น “6 เดือน 6 คุณภาพการศึกษาให้มีความชัดเจน ได้แก่
           1. โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพซึ่งได้รับงบปี 2554 เพิ่มเป็น 8 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องลงไปสู่สถานศึกษาอย่างแท้จริง โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปวางระบบให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงบ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนอย่างแท้จริง
           2. การประกาศจุดเน้นเรื่องคุณภาพของผู้เรียนแต่ละระดับ
           3. เน้นการศึกษาตลอดชีวิตของประชาชน โดยจะประกาศให้ กศน.ตำบลเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนกว่า 30 ล้านคน
           4.คุณภาพสถานศึกษายุคใหม่ที่จะส่งเสริมให้มีโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อเพิ่มความเท่าเทียมทางการศึกษาให้มากขึ้น
           5.การส่งเสริมเทคโนโลยีและสารสนเทศ โดยจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และ
           6.คุณภาพครู โดยจะดำเนินการพัฒนาครูทั้งระบบ ซึ่งตนได้มอบหมายให้องค์กรหลังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแต่ละจุดเน้นนำไปบูรณาการเพื่อให้การดำเนินงานมีความเชื่อมโยงกันต่อไป
       ข้อเสนอนโยบายการจัดสมัชชาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่ง สกศ.ได้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบสมัชชาการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อศึกษาและออกแบบสมัชชาการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และสอดคล้องกับแผนการศึกษากลุ่มจังหวัด/จังหวัด
โดยมีการทดลองนำร่องจัดสมัชชาการศึกษาใน ๘ จังหวัด ใน ๔ ภูมิภาคๆ ละ ๑ กลุ่มจังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ จ.พิษณุโลกและอุตรดิตถ์ ภาคกลางตอนบน ๑ จ.พระนครศรีอยุธยาและนนทบุรี และภาคใต้ชายแดน จ.สงขลาและสตูล

          ซึ่งผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการจัดสมัชชาการศึกษา ควรเป็นรูปแบบที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและรวมพลังของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เรียกว่า ๓๓๓ หรือ  “Triple Three Model” ซึ่งประกอบด้วย
           - ๓ ตัวแรก หมายถึง ระดับจัดสมัชชาการศึกษา ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับชาติ
           - ๓ ตัวที่สอง หมายถึง องค์ประกอบสมัชชาในแต่ละระดับ มี ๓ ภาค ได้แก่ ภาคองค์ความรู้ ภาคประชาชน และภาครัฐ ที่มีการสื่อสารแบบสองทาง
           - ๓ ตัวที่สาม หมายถึง กิจกรรมของสมัชชาการศึกษาแต่ละระดับ มี ๓ กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ การประชุมสมัชชา และการติดตามผลข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ
             รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ สกศ.นำผลการวิจัยครั้งนี้ร่วมกับข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองด้านการมีส่วนร่วม เพื่อดำเนินการกำหนดวิธีการและจัดรูปแบบการมีส่วนร่วมให้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง รมว.ศธ.ได้เสนอให้มีรูปแบบการมีหุ้นส่วนทางการศึกษา PPP รูปแบบกรรมการสถานศึกษาทุกระดับ และรูปแบบโรงเรียนดีประจำตำบล นอกจากนี้ รมว.ศธ.ยังได้กล่าวถึงผลการวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้คะแนนความพึงพอใจเกี่ยวกับความเชื่อว่าจะสามารถปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองได้สำเร็จ ถึงร้อยละ ๖ ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่น่าพึงพอใจ แต่ยังมีจุดอ่อนด้านการมีส่วนร่วม จึงขอให้ สกศ. ไปศึกษาการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
           รูปแบบการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่ง สกศ.ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ในการจัดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ๔ ภูมิภาค ๔ รุ่นๆ ละ ๖๐ คน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และเทคโนโลยี ผลงานการสร้างสรรค์สื่อ โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Book และนำสื่อที่ผลิตไปใช้กับนักเรียน ซึ่งมีรูปแบบความร่วมมือระหว่างองค์กรกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนด้วย
           สำหรับผลการประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาเรื่องความรู้ความเข้าใจด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยี ตลอดถึงกระบวนการพัฒนาหนังสือ พบว่า ครูและบุคากรทางการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจด้านการใช้สื่อ และกระบวนการพัฒนาหนังสือเพิ่มขึ้น มีทักษะการใช้เทคโนโลยีและผลงานสร้างสรรค์สื่อ สามารถพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปภาพ สีสัน ดึงดูดความสนใจได้หลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา เห็นว่า การนำสื่อและเทคโนโลยีไปใช้ในสถานศึกษา เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา

             รมว.ศธ.กล่าวย้ำเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นนโยบายหลักของ ศธ.อยู่แล้ว จึงได้มอบหมายให้ สป.จัดการพัฒนา e-Learning เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และนำผลการอบรมครูไปร่วมเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นนโยบายหลักต่อไป
            เป้าหมายและการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗ และผลการดำเนินงาน ภาพความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนดีประจำอำเภอ ซึ่ง สพฐ.ได้เสนอการพัฒนาสถานศึกษาให้ไปสู่สถานศึกษายุคใหม่ ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ๓๒,๐๐๐ โรงเรียน ประกอบด้วย ยกระดับเป็นโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล ๕๐๐ โรงเรียน โรงเรียนดีประจำอำเภอ ๒,๕๐๐ โรงเรียน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล ๗,๐๐๐ โรงเรียน ส่วนอีก ๒๒,๐๐๐ โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนและหมู่บ้าน สำหรับโรงเรียนดีประจำตำบล ได้มีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการดำเนินการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ในรูปแบบ ๗๗๗ คือ
       - ๔ เดือนแรก ดำเนินการ ๗ ประการ คือ มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีเป้าหมายพัฒนานักเรียนที่เข้าใจถูกต้องตรงกัน สถานศึกษาสะอาด มีบริเวณโดยรอบร่มรื่น สวยงาม มีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้าน มีความปลอดภัย ปลอดสารเสพติด และเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและพัฒนา
        - ๔ เดือนต่อมาจะต้องดำเนินการ ๗ ประการ คือ มีห้องสมุด ๓ ดี มีห้องปฏิบัติการ มีศูนย์การเรียนรู้อาชีพ มีศูนย์กีฬาชุมชน มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ มีครูที่ใช้แหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีการบริหารที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
         - อีก ๔ เดือนต่อไป ต้องการให้โรงเรียนดีประจำตำบลมี ๗ อย่าง คือ มีชื่อเสียงดี มีนักเรียนใฝ่รู้ ปลูกฝังให้นักเรียนใฝ่เรียน และใฝ่ดี มีความเป็นไทย สุขภาพดี และรักการงานอาชีพ
         รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ศธ.จะประกาศการพัฒนาสถานศึกษายุคใหม่ ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อให้มีการขับเคลื่อนเรื่องสถานศึกษายุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้มอบให้ สพฐ.ดำเนินการ ๓ เรื่อง ได้แก่
           ๑.พัฒนารูปแบบโรงเรียนดีประจำตำบลให้สนองตอบต่อการเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน มีทั้งระดับปฐมวัย มีการเรียนร่วม และเรียนปกติที่มีความพร้อมอยู่ในโรงเรียนเดียว
           ๒.มุ่งเน้นให้โรงเรียนดีประจำตำบลมีบุคลากรที่มีความสามารถในการสอนทุกสาระการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับโรงเรียนเครือข่าย หรือโรงเรียนพี่เลี้ยงในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อต่อยอดความเป็นเลิศให้กับนักเรียน และ
           ๓.มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางสอดคล้องกับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน กศน.ตำบล เป็นการสร้างฐานการเรียนรู้ในระดับล่างที่มีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังได้เสนอรูปแบบการพัฒนาสถานศึกษายุคใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ ที่สังกัด สพฐ. ๕๐๐ โรงเรียน และสังกัด สช. ๕๐๐ โรงเรียน และโรงเรียนมุ่งสู่มาตรฐานสากล
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ข่าวที่ 332/2553
สรุป : ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณา 6 จุดเน้นคุณภาพปี 2554 รูปแบบการจัดสมัชชาการศึกษา ควรเป็นรูปแบบที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและรวมพลังของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เรียกว่า ๓๓๓ หรือ  “Triple Three Model” รูปแบบการพัฒนาศักยภาพครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนในการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายและการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗

ที่มา ต้นฉบับ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ http://www.moe.go.th/moe/upload/news20/FileUpload/21434-8841.pdf

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบาย ผอ.สพป.-ผอ.สพม.ทั่วประเทศ

พบ ผอ.สพป.-ผอ.สพม.ทั่วประเทศ
  
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายและแนวทางการทำงานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ๑๘๓ เขต และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ๔๒ เขตทั่วประเทศ เมื่อเย็นวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ

--------------------------------------------------------------------------------
รมว.ศธ.กล่าวว่า ต้องการมาพบกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกๆ ๒ เดือน ส่วนการพบในครั้งนี้ได้แสดงความขอบคุณการดำเนินงาน ๑๙ โครงการ ๑๙ ความสำเร็จด้านการศึกษาในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา เพราะ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ถือเป็นขุนพลหลักที่มีส่วนขับเคลื่อนในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยเป็นโครงการที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
๑) โครงการ "เรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ" ซึ่งได้ผลักดันงบประมาณปี ๒๕๕๔ จำนวนมากถึง ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อให้นักเรียน ม.๔-๖ และ ปวช. ได้รับหนังสือเรียนฟรี โดยไม่ต้องยืมเรียน พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และการมีส่วนร่วมของกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองนักเรียน
๒. โครงการ "ดื่มนมและอาหารกลางวันฟรี" ได้เพิ่มงบประมาณรายหัวให้เด็กได้ดื่มนมฟรีจาก ๖ บาท เป็น ๗ บาทต่อคนต่อวัน จำนวน ๒๐๐ วัน และปรับปรุงงบประมาณรายหัวโครงการอาหารกลางวัน จากรายหัวละ ๑๑ บาท เป็น ๑๓ บาท โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๙,๒๙๘,๑๕๙,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาสมองเด็กไทยต้องใส่ใจอย่างยั่งยืน” ที่สนองตอบต่อการดำเนินการตามโครงการ
๓. โครงการ "เด็กพิการเรียนฟรี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี" ซึ่งได้มีการเพิ่มจำนวนนักเรียนพิการ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. จาก ๑๙,๙๑๔ คน เป็น ๒๐,๙๘๑ คน เรียนต่อระดับปริญญาตรีสูงขึ้น เป็น ๔,๕๖๒ คน มีโรงเรียนเรียนร่วมเพิ่มขึ้นเป็น ๑๕,๕๓๐ โรงเรียน
๔. โครงการ "ประกาศจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน" ซึ่งได้ประกาศคุณภาพผู้เรียนแต่ละช่วงชั้น กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ดังนี้
สพฐ. นักเรียนชั้น ป.๑-๓ ต้องอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีทักษะการคิดพื้นฐาน ทักษะชีวิต และเป็นผู้ใฝ่ดี ป.๔-๖ อ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง มีทักษะการคิดพื้นฐาน ทักษะชีวิต สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และใฝ่เรียนรู้ ม.๑-๓ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ มีทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และอยู่อย่างพอเพียง ม.๔-๖ แสวงหาความรู้ เพื่อแก้ปัญหา ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ใช้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) มีทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ตามช่วงวัย และมีความมุ่งมั่นในการศึกษาและการทำงาน
อาชีวศึกษา ต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะในอาชีพ มีสมรรถนะที่สามารถปฏิบัติงานได้จริงตามความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรมและกิจนิสัยที่เหมาะสมในการทำงาน
อุดมศึกษา บัณฑิตต้องมีคุณลักษณะอย่างน้อย ๕ ด้าน คือ ๑) มีคุณธรรมจริยธรรม ๒) มีความรู้ความสามารถในการเข้าใจ นึกคิด และนำเสนอข้อมูลและเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ๓) มีทักษะทางปัญญา ๔) มีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ๕) มีทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
๕. โครงการ "ปรับคุณภาพสถานศึกษาขนาดเล็ก" โดยเพิ่มเงินรายหัวให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาเป็นคนละ ๕๐๐ บาทต่อคนต่อปี ชั้นมัธยมศึกษาคนละ ๑,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี และปรับปรุงประสิทธิภาพมาตรฐานของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพของชุมชน มีจำนวนนักเรียนไม่ลดลงและชุมชนมีส่วนร่วมให้มีคุณภาพ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๘๘๘,๗๐๐,๐๐๐ บาท
๖. โครงการ "โรงเรียนดีประจำตำบล" ได้ปรับปรุงมาตรฐานและคุณภาพโรงเรียนในชนบท โดยได้จัดเป็นโครงการนำร่องในปีที่ผ่านมา ๑๘๒ โรงเรียน ใช้งบประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาท และได้ขยายผลเป็นจำนวน ๗,๐๐๐ โรงเรียน ในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ใช้งบประมาณ ๒,๒๐๐ ล้านบาท โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ๗-๗-๗ ในการขับเคลื่อน
๗. โครงการ "พัฒนาโรงเรียนดีประจำอำเภอ" ๒,๕๐๐ โรง และ "โรงเรียนไปสู่ระดับมาตรฐานสากล" ๕๐๐ โรง กลุ่มโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติให้มีมาตรฐานไปสู่สากล จำนวน ๑,๐๐๐ โรง ขับเคลื่อนและดำเนินการโดยการประชุมทางไกล จัดทำสื่อ จัดประชุมสัญจร ๕ ภูมิภาค จัดเครือข่ายการนิเทศการมัธยมศึกษา และจัดตั้งภาคีเครือข่าย รวมทั้งมีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘
๘. โครงการ "จัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค" โดยพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง ๑๒ แห่ง ปรับปรุงค่ารายหัวเป็น ๙๔,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นฐานในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้นแบบและกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยจะเริ่มรับนักเรียนในปี ๒๕๕๔
๙. โครงการ "พัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบ" ได้เร่งรัดการพัฒนาครูเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ได้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๕,๘๔๑,๗๗๖,๔๐๐ บาท เพื่อผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน (๕ปี) พัฒนาระบบสารสนเทศ โครงการคืนครูให้กับนักเรียน การพัฒนาครูด้วยระบบ e-Training การจัดทำระบบทะเบียนประวัติ (ก.พ.๗) อิเล็กทรอนิกส์ และการอบรมพัฒนาชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาชีวิตด้วยการสร้างวินัยทางการเงิน
๑๐. โครงการ "ผลิตครูพันธุ์ใหม่" มีเป้าหมายการรับนักศึกษาจำนวน ๖ รุ่น รวม ๓๐,๐๐๐ คน ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๔–๒๕๕๘ โดยรับนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ ๓ ประเภท ได้แก่ รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๖ รับนักศึกษาครูระดับปริญญาตรีหลักสูตร ๕ ปีที่กำลังศึกษาชั้นปี ๔ และรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาอื่น เข้าศึกษาต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (๑ ปี)
๑๑. โครงการ "สร้างขวัญกำลังใจครู" โดยได้เสนอ พ.ร.บ.เงินเดือน/เงินวิทยฐานะฯ เพื่อให้ข้าราชการครูได้ปรับเพดานขั้นเงินเดือนประมาณร้อยละ ๘ แก้กฎ ก.ค.ศ. ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงขึ้นเทียบเท่าวิชาชีพแพทย์และกฎหมาย เสนอเงินวิทยพัฒน์ฯ ปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้ผู้บริหารการศึกษาระดับจังหวัดเป็นระดับ ค.ศ. ๔ นอกจากนี้จะได้มีการปรับปรุงวิธีการประเมินวิทยฐานะแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเน้นการประเมินผลงานครูและบุคลากรทางการศึกษาเชิงประจักษ์ เน้นการสนับสนุนครูสอนดี
๑๒. ดำเนินการถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา และจัดตั้ง "กองทุนครูของแผ่นดิน" เป็นกองทุนเพื่อพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีความเป็นเลิศ เป็นครูต้นแบบ ส่งเสริมสนับสนุนครูในพื้นที่เสี่ยงภัย ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกย่องเชิดชูเกียรติของครู
๑๓. โครงการ "จัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการศึกษา" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดย ศธ.ได้เสนอพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้จำนวน ๕ ล้านบาท และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้มอบเงินสนับสนุนตาม พ.ร.บ.กทช. อีกจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท พร้อมกับประกาศนโยบาย 3N ได้แก่ Nednet (National Education Network) หรือเครือข่ายเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ, NEIS (National Education Information System) หรือศูนย์สารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และ NLC (National Learning Center) หรือศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ นอกจากนี้ในปี ๒๕๕๓ ได้จัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนเพื่อเพิ่มสัดส่วนเป็นนักเรียน ๑๐ คนต่อคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง จำนวน ๑๔๐,๐๐๐ ชุด และปี ๒๕๕๔ อีกจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ ชุด และจัดงบประมาณสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน ๓,๐๐๐ ล้านบาท
๑๔. โครงการ "พัฒนา กศน.ตำบล : ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตลอดชีวิต ๗,๐๐๐ ตำบล" ศธ.ได้ยกฐานะครูศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) และครู กศน.ตำบล เป็นพนักงานราชการ จำนวน ๗,๒๑๖ คน มีการจัดตั้ง กศน.ตำบล ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูก และดำเนินการปรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็น กศน.ตำบล จำนวน ๗,๔๐๙ แห่ง
๑๕. โครงการ "ส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต" โดยดำเนินการใน ๕ แผน คือ ๑) รณรงค์การสร้างนิสัยรักการอ่าน ๒) การเพิ่มสมรรถนะการอ่าน ๓) การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่านและสร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่ ๔) สร้างเครือข่ายความร่วมมือการอ่าน โดยจัดโครงการอบรมอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ๕) การวิจัยและพัฒนาเพื่อการอ่าน ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย
๑๖. โครงการ "Student Channel และ Thai Teacher TV" เพื่อเป็นการเสริมสร้างและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จากครูที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งส่งเสริมให้ครูได้เห็นตัวอย่างการสอนและการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งได้มีการผลิตรายการ Student Channel ทั้งหมดจำนวน ๑๑๐ รายการ จัดกิจกรรม Student Channel on Tour จำนวน ๒๑ ครั้ง และจัดทำสำเนารายการเป็น DVD จำนวน ๗๒,๘๖๐ แผ่น ส่วน Thai Teacher TV ได้ดำเนินการออกอากาศผ่านช่องทีวีไทยในชื่อรายการ "ครูมืออาชีพ" รวมทั้งเปิดให้รับชมผ่านดาวเทียม มีการผลิตสื่อและจัดหาสื่อสำหรับเผยแพร่ จำนวน ๑๐๐ รายการ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาและปรับปรุงสถานีวิทยุศึกษา และสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จำนวน ๓๕๗,๕๙๐,๐๐๐ บาท
๑๗. "ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้" ได้แก่ ยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาศักยภาพครูผู้สอนที่ไม่ตรงวุฒิ จำนวน ๕๐๐ คน พัฒนาทักษะการอ่าน เขียน ภาษาไทยให้กับนักเรียนที่อ่านภาษาไทยไม่คล่อง จำนวน ๔,๙๓๒ คน และจัดการศึกษาภาคบังคับให้เด็กตกหล่น จำนวน ๖,๖๕๗ คน การพัฒนาอิสลามศึกษา ได้ส่งเสริมการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในโรงเรียนของรัฐ จัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางอิสลามศึกษา (I-NET) มีการเทียบโอนอิสลามศึกษาทุกระดับ และคัดเลือกสถาบันศึกษาปอเนาะดีต้นแบบ ๙ แห่ง การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ พัฒนาทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นในสถาบันศึกษาปอเนาะและสอนวิชาชีพสำหรับเยาวชนและประชาชน จำนวน ๖๔,๒๓๔ คน และปรับระบบบริหารจัดการ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด จำนวน ๕ แห่ง และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชนอำเภอ จำนวน ๓๗ แห่ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ กศน.ทุกตำบล จำนวน ๔๑๓ แห่ง
๑๘. โครงการ "จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) หรือ Quality Learning Foundation (QLF)" ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง ซึ่ง สสค.มีหน้าที่ในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยมีจิตสำนึกของการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเพื่อให้เยาวชนไทยมีคุณภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้น
๑๙. "การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑)" ภายใต้วิสัยทัศน์ "คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ" โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) จำนวน ๗ ครั้ง และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กนป. จำนวน ๗ คณะ สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กขป.) มีการประชุม ๓ ครั้ง และได้เห็นชอบหลักการกรอบแนวทาง ยุทธศาสตร์ และกลไกขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๖๑) และมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Roadmap) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
นอกจากนี้ รมว.ศธ.ได้เน้นย้ำเรื่อง "จุดเน้นนโยบายในปี ๒๕๕๔" ที่ต้องการให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องต่อไป เพราะหาก ศธ.กำหนดยุทธศาสตร์แล้ว แต่กลไกการทำงานไม่ชัดเจน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ จึงหวังว่าปี ๒๕๕๔ จะเป็นปีคุณภาพการศึกษา คุณภาพครู และคุณภาพนักเรียน ซึ่ง ผอ.เขตพื้นที่ฯ จะต้องแปรนโยบายยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไปสู่ยุทธวิธีในการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังต่อไป
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้กล่าวแสดงความหวังว่า นโยบายที่สำคัญจะต้องมุ่งเน้น คือ นโยบายคุณภาพผู้เรียน โรงเรียนดีประจำตำบล รวมทั้งนโยบายการพัฒนาคุณภาพครู ซึ่งจะเห็นผลในเชิงปฏิบัติมากขึ้น ทั้งยังได้ขอความร่วมมือเรื่องการเทิดพระเกียรติในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ในปี ๒๕๕๔ ที่เราจะร่วมเฉลิมฉลองพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" รวมทั้งเชิญชวนจัดตั้ง "กองทุนครูของแผ่นดิน" ด้วย
ในส่วนของนโยบายการรับนักเรียนนั้น จะมีการเปิดศูนย์รับนักเรียนโดยตรง ในวันที่ ๑๑ มกราคมนี้ และจะมีการตั้งคณะกรรมการรับนักเรียนปี ๒๕๕๔ รวมทั้งการจัดทำแผนรองรับในการรับนักเรียนให้ครอบคลุมอย่างรอบด้านในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการในการติดตามตรวจสอบการรับนักเรียน มีองค์กรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรการตรวจสอบเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย นอกจากนี้จะมีการประชุม ผอ.โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ๓๖๙ โรง ในวันที่ ๑๒ มกราคมนี้ด้วย เพื่อทำความเข้าใจในประกาศแผนการรับนักเรียนของ สพฐ. ซึ่งจะต้องตั้งโจทย์ให้ครอบคลุมทั้งหมด หวังว่าประกาศรับนักเรียนในปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างธรรมาภิบาล ความโปร่งใสให้เกิดขึ้น และจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งตอบโจทย์สุดท้ายคือ คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น คุณภาพโรงเรียนที่ใกล้เคียงกันด้วย
ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงบางรายที่ได้ไปวิพากษ์นโยบายดังกล่าวว่าไม่สามารถดำเนินการได้นั้น รมว.ศธ.กล่าวในที่ประชุมว่า ทราบดีและหวังว่าผู้บริหารรายนั้นจะดำเนินการรับนักเรียนด้วยความโปร่งใส เพราะหากมีปัญหาร้องเรียนหรือปรากฏว่าเรียกรับเงินในการรับนักเรียน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาฯ จะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย และหากว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากกว่า ๒ เขตพื้นที่การศึกษา อาจจะต้องมีการพิจารณาโยกย้ายเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
จึงหวังว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องร่วมกันดำเนินการการรับนักเรียนอย่างจริงจัง ให้เป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล และโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่นักเรียนโดยรวมของประเทศจำนวนกว่า ๑ ล้านคน ไม่ใช่ของหัวคะแนนหรือเพื่อลูกหลานใคร ดังนั้นบุคคลที่สนับสนุนตนทางการเมือง หรือบุคคลใกล้ชิด จะต้องยอมรับในนโยบายนี้เช่นกันด้วย.
ที่มา http://www.moe-news.net/index.php?option=com_content&task=view&id=2180&Itemid=99999999&preview=popup

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

อภิสิทธิ์ ระบุแผนปฏิรูปการศึกษารอบ 2

นายกรัฐมนตรี ระบุ แผนปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 เน้นการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรี ระบุ แผนปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 เน้นการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรี ระบุ แผนปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 เน้นการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมทักษะอาชีพ สร้างโอกาสให้กับเด็กที่จำเป็นต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับ นายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงแผนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ว่า จะดูแลเรื่องการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพซึ่งปัจจุบันมีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาประมาณ 1 ล้าน 7 แสนคน รวมถึงจะดูแลเด็กพิการให้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมด้วย โดยรัฐบาลจะจัดให้เด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะดูแลเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคันซึ่งมีจำนวนสูงถึงปีละ 46,000 ราย โดยมีอายุระหว่าง 10-18 ปี เด็กกลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือเด็กที่ถูกดำเนินคดี และเด็กที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากมีปัญหาส่วนตัว ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นเด็กที่สร้างปัญหาให้กับสังคมได้ ดังนั้นรัฐบาล จะสร้างทางเลือกให้กับเด็กที่ไม่สามารถกลับไปเรียนได้ตามระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยการส่งเสริมทักษะอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กได้มีงานทำ
ข้อมูลข่าวและที่มา
ผู้สื่อข่าว : อัคภา พิสุทธิ์สกุลรัตน์   Rewriter : ศศิธร ภู่จีนาพันธ์
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th
วันที่ข่าว : 02 มกราคม 2554

วันครู ปีพ.ศ. 2554

นายนิวัตร นาคะเวช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการจัดงานวันครู โดยมีคณะอนุกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. ๒๕๕๔ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานต่อที่ประชุม ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานวันครูประจำปี ๒๕๕๔ จะต้องจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อระลึกถึงพระคุณครู และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ โดยในปีนี้คณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน โดยประชาสัมพันธ์การจัดงานดังกล่าวผ่านทางสื่อทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชน และเน้นย้ำต่อนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการประกาศการพัฒนาคุณภาพครู ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ 
ในโอกาสนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้รายงานข้อสรุปการดำเนินการจัดกิจกรรรม และพิจาณาตัดสินคำขวัญที่ชนะเลิศในการประกวด คือ เทิดพระเกียรติทั่วหล้า บูชาครูของแผ่นดิน ภูมินทร์ภูมิพล เป็นคำขวัญวันครูประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อเทิดเกียรติคุณครูและใช้ในการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมวันครู ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป./วิชัย เทพกอม

10ข่าวเด่นการศึกษาก่อนอำลาปีเสือดุ

10ข่าวเด่นการศึกษาก่อนอำลาปีเสือดุ


รอบปี 2553 ที่กำลังจะผ่านไป ในแวดวงการศึกษามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งในโอกาสนี้เราขอคัดเลือก 10 เรื่องเด่น จากหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้เราได้หันกลับมาทบทวนว่า เหตุการณ์เหล่านั้นได้ให้บทเรียนอะไรกับสังคมไว้บ้าง
“มาร์ค”คุมปฏิรูปรอบสอง
ปีนี้เรื่อง “ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง” ถูกหยิบให้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 4 ใหม่ ในปี 2561 ได้แก่ 1. การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ 2. การพัฒนาครูยุคใหม่ 3. การพัฒนาสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และ  4. การพัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาแนวใหม่ ซึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี โดดลงมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการ นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง หรือ กนป.ด้วยตนเอง และประกาศเชิญชวนทุกฝ่ายให้มาร่วมกันชูธงเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดยถือว่าเป็นภารกิจใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยมีวลีเด็ดว่า “ถ้าการปฏิรูปจะกระทบต่ออำนาจของเราบ้างก็ต้องสละ เพราะไม่คิดว่าเราจะได้รับโอกาสในการปฏิรูปรอบสามและรอบสี่ อีกถ้าในรอบสองเราทำไม่ได้”
พิษครุภัณฑ์อาชีวะ
อีกเรื่องที่ถูกจับตามองเรียกว่าดังและแรงมาตลอดทั้งปีกับ กรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์การลงทุนในโครงการตามแผนปฏิบัติการ ไทยเข้มแข็งภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือ เอสพี 2 มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีข่าวเกี่ยวกับการหักค่าหัวคิวในการจัดซื้อ การจัดตะกร้าครุภัณฑ์ทำให้ได้ครุภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ตรงตามความ ต้องการของสถานศึกษา เป็นเรื่องเป็นราวร้องเรียนกันไป ล่าสุดวันนี้เรื่องก็ยังคงค้างอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาเอสพี 2 ของ สอศ.ยังเป็นเหตุให้ “พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา” ถูกเด้งจากเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ไปนั่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ก่อนเกษียณอายุราชการเพียง 4 เดือนเท่านั้น โดยเป็นการโยกสลับตำแหน่งกับ “ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์” เลขาธิการ กอศ.คนปัจจุบัน
แยกเขตพื้นที่มัธยมฯ
ในที่สุดความพยายามที่จะแยกความเป็นมัธยมศึกษาออกจากการรวมอยู่กับประถม ศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็ประสบความสำเร็จ หลังผู้บริหารสถานศึกษาจากค่ายกรมสามัญศึกษาเดิมพยายามเดินสายบอกกล่าวถึง ความอึดอัด ความไม่คล่องตัวในการทำงานมากว่า 8 ปี นับจากการรวมกรมวิชาการ กรมสามัญศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา (สปช.) มาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อครั้งปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2546 เพราะต้องไปอยู่ภายใต้กำกับของ สพท.ที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รู้งานจากฟากประถมศึกษามากกว่า โดยการต่อสู้อันยาวนานได้ชูประเด็นว่าการหลอมรวมได้ทำให้คุณภาพงานวิชาการ ที่เคยโดดเด่นของชาวมัธยมฯต้องหยุดชะงักและตกต่ำลง ท้ายที่สุดสภาการศึกษาก็มีมติให้ตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ขึ้น 42 เขต และปรับสพท.เป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 เขต ในปี 2553
วุ่น ๆ กับวิชาชีพครู
ด้วยความตั้งใจที่จะยกมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงก็ทำเอาวุ่น กันอยู่พักใหญ่ เมื่อคณะกรรมการคุรุสภาได้มีมติยกเลิกการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) ทางการศึกษา และยกเลิกการรับรองหลักสูตรการฝึกอบรมความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตบัณฑิต        ของสถาบันอุดมศึกษากว่า 100 สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตครูได้ พร้อมเดินหน้าประกาศปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2557 ครูที่สอนจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในวิชาที่ตนเองสอน ไม่ใช่มีใบเดียวสอนได้ครอบจักรวาลเหมือนปัจจุบัน และไม่ว่าจะจบจากสถาบันไหนก็ต้องเข้าทดสอบด้วยข้อสอบกลางของคุรุสภาก่อนที่ จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
แบ่งเค้กเงินทำหนัง
ยังคงวนเวียนอยู่กับงบฯ เอสพี 2 ที่ส่งอานิสงส์มาถึงวงการภาพยนตร์ไทยเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ วงเงิน 200 ล้านบาท โดยมีผู้ส่งผลงานขอ รับการสนับสนุนงบฯถึง 289 เรื่อง แต่ที่เป็นเรื่องขึ้นมาเพราะในการคัดเลือกรอบแรก ภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3-4” ของท่านมุ้ย “ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” ได้รับไปเหนาะ ๆ 100 ล้านบาท สร้างความไม่พอใจให้บรรดาคนทำหนัง โดยเฉพาะ “เจ้ย” อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ประเทศฝรั่งเศส จากเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ที่เป็นแกนนำในการทักท้วง จนกระทรวงวัฒนธรรมต้องตัดสินใจหั่นงบหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหลือ 46 ล้านบาท แล้วจัดสรรให้แก่ภาพยนตร์เรื่องอื่นได้รวม 81 เรื่อง
ปัญหาอยุธยามรดกโลก
นับตั้งแต่ต้นปีบรรดานักวิชาการ รวมถึงคณะกรรมการมรดกโลก ออกมาเตือนแบบหวั่น ๆ ว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามรดกโลกของไทย จะถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก จากหลายปัญหาที่หมักหมมมานาน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาร้านค้าที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ค้า เรื่องผลประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขนาดกรมศิลปากรยังต้องถอยออกมาตั้งหลัก เพราะการตอบโต้ผ่านสื่อที่ค่อนข้างรุนแรงของนายกเทศมนตรีและผู้ว่าราชการ จังหวัด กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลและสื่อมวลชนทุกแขนงให้ความสนใจ จน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รมว.วัฒนธรรม ต้องออกมาประกาศว่า ปัญหาอยุธยาต้องจบ แต่จนหมดปีปัญหาก็ยังไม่ยอมจบ ปัญหาร้านค้าบริเวณวิหารพระมงคล บพิตรก็ยังคงอยู่
ตัดตอนครูพันธุ์ใหม่ 5 ปี
เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีอายุการใช้งานสั้นมาก สำหรับหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ 5 ปี ปริญญาตรี ที่เพิ่งเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2547 และคลอดบัณฑิตที่จบการศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2551  ปีนี้ 2553 ก็มีโครงการรื้อหลักสูตรกันใหม่เปลี่ยนเป็นโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ หลักสูตร 6 ปี วุฒิปริญญาโท โดยมีเป้าหมายว่าครูจะมีความรู้สูงขึ้น และส่งผลให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มเปิดรับนักศึกษา 6 ปี รุ่นแรกในปีการศึกษา 2554 ขณะที่มีสถาบันฝ่ายผลิตพร้อมจัดสอนเพียง 36 แห่ง จากสถาบันผลิตครูที่มีอยู่ 61 แห่ง แต่โครงการนี้จะได้เดินหน้าหรือไม่ต้องรอฟังการตัดสินจากคณะรัฐมนตรีในปี หน้าก่อน
เหตุเกิดเพราะรูปใบเดียว
เป็นเรื่องจนได้กับการสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร บัณฑิตและหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2554 ผ่านระบบรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่มีนักเรียนถูกตัดสิทธิสอบ เหตุเพราะส่งเอกสารไม่ครบ ขาดรูปถ่ายแค่ใบเดียว ถึงแม้ กสพท. จะยึดมั่นในกติกายืนยันไม่ให้เข้าสอบ แต่นักเรียนที่ยืนยันว่าตัวเองไม่ผิดได้ขอพึ่งศาลปกครองจนศาลมีคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราวให้นักเรียนเข้าสอบไปก่อน เนื่องจากเวลากระชั้นชิดถ้าพลาดโอกาสปีนี้จะไม่ได้สอบ ทำเอา กสพท.ใจอ่อนยอมให้นักเรียนที่ศาลไม่ได้สั่งให้เข้าสอบพลอยได้รับอานิสงส์ เข้าสอบวิชาเฉพาะด้วย แต่กลายเป็นสร้างปัญหาใหม่เพราะเด็กกลุ่มนี้วิ่งฟ้องศาลเพื่อขอเข้าสอบวิชา สามัญในเดือนมกราคม 2554 อีก
ข้อสอบ สทศ.ผิดซ้ำซาก
ร้อนได้ทุกปีกับข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ทั้งข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ที่นักเรียนร้องว่าออกเกินหลักสูตร หรือ ข้อสอบทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT และข้อสอบวัดความ ถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ที่ถูกกล่าวหาว่าโจทย์ผิดและไม่มีคำตอบ สุดท้าย สทศ.ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้คะแนนฟรี และปีนี้ก็ยังคงเกิดปัญหาซ้ำซาก เริ่มจากข้อสอบ O-NET ป.6 วิชาภาษาไทย ที่ข้อสอบไม่เหมาะสม วิชาสุขศึกษาและพลศึกษาเนื้อหาข้อสอบล่อแหลม ส่วนข้อสอบ ม.6 ก็ออกเกินหลักสูตรและไม่มีเหตุผล แถมช่วงปลายปีข้อสอบ PAT ก็ยังผิดอีก ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลที่ สทศ.ยกมาอ้างแบบง่าย ๆ เป็นเพราะไม่มีคลังข้อสอบ ทำให้ต้องออกข้อสอบไปและใช้สอบไปตลอดทั้งปี จึงเกิดความผิดพลาดได้ง่าย
รับนักเรียนไร้เด็กฝาก
ปิดท้ายปลายปีสำหรับเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครองทั้งประเทศ ทันทีที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2554 ที่เสมา 1 “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ได้กำชับแนวปฏิบัติแบบคุมเข้มไว้ว่า ชั้น ม.1 และ ม.4 รับได้ไม่เกินห้องละ 50 คน โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับได้รอบเดียว ต้องระบุจำนวนรับที่ชัดเจน และห้ามฝากเด็กเด็ดขาด ทำเอาได้รับทั้งเสียงเชียร์และด่าตามมาติด ๆ ด้วยไม่ค่อยเชื่อว่าจะสามารถสกัดเด็กฝากได้ 100% แต่ซ้ำร้ายจะยิ่งเป็นการอัพราคาค่าฝากจากที่เคยเป็น หลักหมื่นถึงแสนต้น ๆ ไปเป็นหลายแสน เพราะเป็นที่รู้กันว่าช่วงการรับนักเรียนเป็นช่วงที่เงินสะพัดสุด ๆ แต่นโยบายนี้จะทำได้จริงแค่ไหนต้องรอดูและให้กำลังใจกันต่อไป.

Short URL: http://www.patrolnews.net/?p=40397