วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

10ข่าวเด่นการศึกษาก่อนอำลาปีเสือดุ

10ข่าวเด่นการศึกษาก่อนอำลาปีเสือดุ


รอบปี 2553 ที่กำลังจะผ่านไป ในแวดวงการศึกษามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งในโอกาสนี้เราขอคัดเลือก 10 เรื่องเด่น จากหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้เราได้หันกลับมาทบทวนว่า เหตุการณ์เหล่านั้นได้ให้บทเรียนอะไรกับสังคมไว้บ้าง
“มาร์ค”คุมปฏิรูปรอบสอง
ปีนี้เรื่อง “ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง” ถูกหยิบให้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 4 ใหม่ ในปี 2561 ได้แก่ 1. การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ 2. การพัฒนาครูยุคใหม่ 3. การพัฒนาสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และ  4. การพัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาแนวใหม่ ซึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี โดดลงมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการ นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง หรือ กนป.ด้วยตนเอง และประกาศเชิญชวนทุกฝ่ายให้มาร่วมกันชูธงเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดยถือว่าเป็นภารกิจใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยมีวลีเด็ดว่า “ถ้าการปฏิรูปจะกระทบต่ออำนาจของเราบ้างก็ต้องสละ เพราะไม่คิดว่าเราจะได้รับโอกาสในการปฏิรูปรอบสามและรอบสี่ อีกถ้าในรอบสองเราทำไม่ได้”
พิษครุภัณฑ์อาชีวะ
อีกเรื่องที่ถูกจับตามองเรียกว่าดังและแรงมาตลอดทั้งปีกับ กรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์การลงทุนในโครงการตามแผนปฏิบัติการ ไทยเข้มแข็งภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือ เอสพี 2 มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีข่าวเกี่ยวกับการหักค่าหัวคิวในการจัดซื้อ การจัดตะกร้าครุภัณฑ์ทำให้ได้ครุภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ตรงตามความ ต้องการของสถานศึกษา เป็นเรื่องเป็นราวร้องเรียนกันไป ล่าสุดวันนี้เรื่องก็ยังคงค้างอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาเอสพี 2 ของ สอศ.ยังเป็นเหตุให้ “พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา” ถูกเด้งจากเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ไปนั่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ก่อนเกษียณอายุราชการเพียง 4 เดือนเท่านั้น โดยเป็นการโยกสลับตำแหน่งกับ “ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์” เลขาธิการ กอศ.คนปัจจุบัน
แยกเขตพื้นที่มัธยมฯ
ในที่สุดความพยายามที่จะแยกความเป็นมัธยมศึกษาออกจากการรวมอยู่กับประถม ศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็ประสบความสำเร็จ หลังผู้บริหารสถานศึกษาจากค่ายกรมสามัญศึกษาเดิมพยายามเดินสายบอกกล่าวถึง ความอึดอัด ความไม่คล่องตัวในการทำงานมากว่า 8 ปี นับจากการรวมกรมวิชาการ กรมสามัญศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษา (สปช.) มาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อครั้งปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2546 เพราะต้องไปอยู่ภายใต้กำกับของ สพท.ที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รู้งานจากฟากประถมศึกษามากกว่า โดยการต่อสู้อันยาวนานได้ชูประเด็นว่าการหลอมรวมได้ทำให้คุณภาพงานวิชาการ ที่เคยโดดเด่นของชาวมัธยมฯต้องหยุดชะงักและตกต่ำลง ท้ายที่สุดสภาการศึกษาก็มีมติให้ตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ขึ้น 42 เขต และปรับสพท.เป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 เขต ในปี 2553
วุ่น ๆ กับวิชาชีพครู
ด้วยความตั้งใจที่จะยกมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงก็ทำเอาวุ่น กันอยู่พักใหญ่ เมื่อคณะกรรมการคุรุสภาได้มีมติยกเลิกการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) ทางการศึกษา และยกเลิกการรับรองหลักสูตรการฝึกอบรมความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตบัณฑิต        ของสถาบันอุดมศึกษากว่า 100 สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตครูได้ พร้อมเดินหน้าประกาศปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษา โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2557 ครูที่สอนจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในวิชาที่ตนเองสอน ไม่ใช่มีใบเดียวสอนได้ครอบจักรวาลเหมือนปัจจุบัน และไม่ว่าจะจบจากสถาบันไหนก็ต้องเข้าทดสอบด้วยข้อสอบกลางของคุรุสภาก่อนที่ จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
แบ่งเค้กเงินทำหนัง
ยังคงวนเวียนอยู่กับงบฯ เอสพี 2 ที่ส่งอานิสงส์มาถึงวงการภาพยนตร์ไทยเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ วงเงิน 200 ล้านบาท โดยมีผู้ส่งผลงานขอ รับการสนับสนุนงบฯถึง 289 เรื่อง แต่ที่เป็นเรื่องขึ้นมาเพราะในการคัดเลือกรอบแรก ภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3-4” ของท่านมุ้ย “ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” ได้รับไปเหนาะ ๆ 100 ล้านบาท สร้างความไม่พอใจให้บรรดาคนทำหนัง โดยเฉพาะ “เจ้ย” อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ประเทศฝรั่งเศส จากเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ที่เป็นแกนนำในการทักท้วง จนกระทรวงวัฒนธรรมต้องตัดสินใจหั่นงบหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหลือ 46 ล้านบาท แล้วจัดสรรให้แก่ภาพยนตร์เรื่องอื่นได้รวม 81 เรื่อง
ปัญหาอยุธยามรดกโลก
นับตั้งแต่ต้นปีบรรดานักวิชาการ รวมถึงคณะกรรมการมรดกโลก ออกมาเตือนแบบหวั่น ๆ ว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามรดกโลกของไทย จะถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก จากหลายปัญหาที่หมักหมมมานาน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาร้านค้าที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ค้า เรื่องผลประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขนาดกรมศิลปากรยังต้องถอยออกมาตั้งหลัก เพราะการตอบโต้ผ่านสื่อที่ค่อนข้างรุนแรงของนายกเทศมนตรีและผู้ว่าราชการ จังหวัด กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลและสื่อมวลชนทุกแขนงให้ความสนใจ จน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รมว.วัฒนธรรม ต้องออกมาประกาศว่า ปัญหาอยุธยาต้องจบ แต่จนหมดปีปัญหาก็ยังไม่ยอมจบ ปัญหาร้านค้าบริเวณวิหารพระมงคล บพิตรก็ยังคงอยู่
ตัดตอนครูพันธุ์ใหม่ 5 ปี
เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีอายุการใช้งานสั้นมาก สำหรับหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ 5 ปี ปริญญาตรี ที่เพิ่งเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2547 และคลอดบัณฑิตที่จบการศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2551  ปีนี้ 2553 ก็มีโครงการรื้อหลักสูตรกันใหม่เปลี่ยนเป็นโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ หลักสูตร 6 ปี วุฒิปริญญาโท โดยมีเป้าหมายว่าครูจะมีความรู้สูงขึ้น และส่งผลให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มเปิดรับนักศึกษา 6 ปี รุ่นแรกในปีการศึกษา 2554 ขณะที่มีสถาบันฝ่ายผลิตพร้อมจัดสอนเพียง 36 แห่ง จากสถาบันผลิตครูที่มีอยู่ 61 แห่ง แต่โครงการนี้จะได้เดินหน้าหรือไม่ต้องรอฟังการตัดสินจากคณะรัฐมนตรีในปี หน้าก่อน
เหตุเกิดเพราะรูปใบเดียว
เป็นเรื่องจนได้กับการสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร บัณฑิตและหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2554 ผ่านระบบรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่มีนักเรียนถูกตัดสิทธิสอบ เหตุเพราะส่งเอกสารไม่ครบ ขาดรูปถ่ายแค่ใบเดียว ถึงแม้ กสพท. จะยึดมั่นในกติกายืนยันไม่ให้เข้าสอบ แต่นักเรียนที่ยืนยันว่าตัวเองไม่ผิดได้ขอพึ่งศาลปกครองจนศาลมีคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราวให้นักเรียนเข้าสอบไปก่อน เนื่องจากเวลากระชั้นชิดถ้าพลาดโอกาสปีนี้จะไม่ได้สอบ ทำเอา กสพท.ใจอ่อนยอมให้นักเรียนที่ศาลไม่ได้สั่งให้เข้าสอบพลอยได้รับอานิสงส์ เข้าสอบวิชาเฉพาะด้วย แต่กลายเป็นสร้างปัญหาใหม่เพราะเด็กกลุ่มนี้วิ่งฟ้องศาลเพื่อขอเข้าสอบวิชา สามัญในเดือนมกราคม 2554 อีก
ข้อสอบ สทศ.ผิดซ้ำซาก
ร้อนได้ทุกปีกับข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ทั้งข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ที่นักเรียนร้องว่าออกเกินหลักสูตร หรือ ข้อสอบทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT และข้อสอบวัดความ ถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ที่ถูกกล่าวหาว่าโจทย์ผิดและไม่มีคำตอบ สุดท้าย สทศ.ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้คะแนนฟรี และปีนี้ก็ยังคงเกิดปัญหาซ้ำซาก เริ่มจากข้อสอบ O-NET ป.6 วิชาภาษาไทย ที่ข้อสอบไม่เหมาะสม วิชาสุขศึกษาและพลศึกษาเนื้อหาข้อสอบล่อแหลม ส่วนข้อสอบ ม.6 ก็ออกเกินหลักสูตรและไม่มีเหตุผล แถมช่วงปลายปีข้อสอบ PAT ก็ยังผิดอีก ทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลที่ สทศ.ยกมาอ้างแบบง่าย ๆ เป็นเพราะไม่มีคลังข้อสอบ ทำให้ต้องออกข้อสอบไปและใช้สอบไปตลอดทั้งปี จึงเกิดความผิดพลาดได้ง่าย
รับนักเรียนไร้เด็กฝาก
ปิดท้ายปลายปีสำหรับเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครองทั้งประเทศ ทันทีที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2554 ที่เสมา 1 “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ได้กำชับแนวปฏิบัติแบบคุมเข้มไว้ว่า ชั้น ม.1 และ ม.4 รับได้ไม่เกินห้องละ 50 คน โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับได้รอบเดียว ต้องระบุจำนวนรับที่ชัดเจน และห้ามฝากเด็กเด็ดขาด ทำเอาได้รับทั้งเสียงเชียร์และด่าตามมาติด ๆ ด้วยไม่ค่อยเชื่อว่าจะสามารถสกัดเด็กฝากได้ 100% แต่ซ้ำร้ายจะยิ่งเป็นการอัพราคาค่าฝากจากที่เคยเป็น หลักหมื่นถึงแสนต้น ๆ ไปเป็นหลายแสน เพราะเป็นที่รู้กันว่าช่วงการรับนักเรียนเป็นช่วงที่เงินสะพัดสุด ๆ แต่นโยบายนี้จะทำได้จริงแค่ไหนต้องรอดูและให้กำลังใจกันต่อไป.

Short URL: http://www.patrolnews.net/?p=40397

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น